สถานีตำรวจล้ำสมัย

หากยังพอจะจำกันได้… เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการแถลงข่าวใหญ่ “สถานีตำรวจล้ำสมัย” บูรณาการ “กระบวนการยุติธรรม” พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 รองรับประชาคมอาเซียน

โดยความร่วมมือของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (ร.ร.นรต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.)

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้สถานีตำรวจ หรือที่เรียกกันว่า “โรงพัก” เป็นจุดยุทธศาสตร์เชิงรุกในกระบวนการยุติธรรม เพราะถือว่าเป็นหน้าด่านสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เนื่องจาก “โรงพัก” เป็นหน่วยบริการที่มีความสำคัญสูงสุดในการบริการประชาชนโดยตรง ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนารูปแบบและแนวทางป้องกันปัญหาอาชญากรรมให้เกิดประสิทธิภาพ

สามารถเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ ในรูปแบบต่างๆที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ…มีการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างบูรณาการ

โดยมี 3 สถานีตำรวจเป็นโรงพักต้นแบบ ได้แก่ สน.ภาษีเจริญ ตัวแทนของสังคมเมือง สภ.บางแก้ว ตัวแทนแหล่งอุตสาหกรรม และ สภ.เมืองพัทยา ตัวแทนพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

ผ่านไปแล้ว 5 เดือน…มาดูกันว่าพอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่?

ดัชนีชี้วัดความสำเร็จว่าจะเดินหน้าเพื่อไปต่อในการพัฒนาโรงพักทั่วประเทศหรือไม่นั้น สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) เป็นเจ้าภาพหลักแผนงานบูรณาการปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม วัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม บอกว่า สกธ. ได้ดำเนินการประเมินผลตัวชี้วัด ระดับเป้าหมายของแผนงานบูรณาการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560

โดยจ้างคณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งการสำรวจข้อมูลมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่เข้ามาติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 4,450 คน (ร้อยละ 90) และประชาชนทั่วไป จำนวน 550 คน (ร้อยละ 10)

กำหนดพื้นที่ดำเนินการสำรวจใน 9 ภาค 19 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้บริการสถานีตำรวจนำร่อง3 แห่งของโครงการสถานีตำรวจล้ำสมัยรวมอยู่ด้วย

จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ประชาชนร้อยละ 82.20 มีความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานและการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.11 จากคะแนน 5.00 โดยประชาชนมีความเชื่อมั่นสูงสุดในด้านการมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในการบังคับใช้กฎหมาย

และด้านการมีความปลอดภัยของข้อมูลเป็นความลับ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.14 จากคะแนน 5.00 รองลงมาคือ การไม่มีการรับอามิสสินจ้าง เพื่ออำนวยความสะดวก…ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.13 จากคะแนน 5.00

และมีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดในด้านการให้บริการแบบเสร็จภายในที่เดียว (One Stop Service) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.04 จากคะแนน 5.00

เห็นได้ว่า…การดำเนินการของโครงการสถานีตำรวจล้ำสมัยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในและ นอกประเทศต่อการลงทุนในภาคส่วนต่างๆของประเทศไทย

เมื่อถามถึงทิศทางการขับเคลื่อนขยายผล “สถานีตำรวจล้ำสมัย” ไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ วัลลภ มองว่า คงต้องรอผลการประเมินโครงการในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามมาตรฐานการพัฒนาสถานีตำรวจใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.โครงสร้างอาคาร สถานที่และสภาพแวดล้อม

2.อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และครุภัณฑ์ต่างๆ 3.เทคโนโลยีและสารสนเทศ 4.พัฒนาระบบการบริหารงาน ด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ด้านการ ควบคุมการจัดการจราจรและงานอำนวยการ

และ 5.ด้านบุคลากร รวมทั้งการวัดความพึงพอใจ 3 ด้าน คือ ด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการ และ ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ

“สำหรับเป้าหมายของการขยายผลคงต้องรอลุ้นผลการประเมินดังกล่าว เพื่อนำมากำหนดแนวทางในการขยายแผนการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่นต่อไป โดยจะเริ่มพิจารณาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562”

ในมุมความร่วมมือในภาคส่วนของ “โรงเรียนนายร้อยตำรวจ” ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดรูปธรรม “สถานีตำรวจล้ำสมัย” พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ย้ำว่า

“เรามีความมุ่งมั่นในการก้าวไปสู่สถานีตำรวจล้ำสมัย…ที่จะต้องเป็นสถานีตำรวจเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทั้งช่องทางการให้บริการ การจัดพื้นที่พักสำหรับ ประชาชน การจัดห้องซักถามแยกเป็นการเฉพาะ”

ลงลึกในรายละเอียดยังเกี่ยวโยงไปถึงการออกแบบอาคารและจุดบริการให้โดดเด่น มีการพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ…เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน พร้อมๆไปกับมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศอาชญากรรม ข้อมูลคดี และการเชื่อมโยงศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรมต้นแบบ (Data Exchange Center)

นับรวมไปถึงมีงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การเงิน…ค่าตอบแทน ให้ภาคประชาชนในพื้นที่ชุมชนเป็นหุ้นส่วน เพื่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่รับผิดชอบ และมีการพัฒนาโครงสร้างการบริหาร โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจระดับสถานีตำรวจ ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค

“การพัฒนาทั้งหมดนี้ จะสอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปตำรวจ ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายที่ยุติธรรม ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาและมีมาตรฐานสากล”

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นทาง คือการคัดเลือก 3 สถานีต้นแบบ สน.ภาษีเจริญ สภ.บางแก้ว และ สภ.เมืองพัทยา ระหว่างทางขณะนี้ ทั้ง 3 สถานีกำลังเร่งพัฒนาโรงพักใน 5 ด้าน โดยพยายามพัฒนาด้านที่จะตอบสนองประชาชน โดยเฉพาะจุดบริการรับเรื่องร้องทุกข์คดีความต่างๆ

พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและการให้บริการในสถานีตำรวจ (E-Office) ซึ่งเป็นกระบวนหนึ่งของสถานีตำรวจล้ำสมัยแบบบูรณาการในกระบวนการยุติธรรม เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน

ความล้ำสมัยนี้เรียกว่า “Smart Police” และ “Smart Operation” เน้นการบริการของผู้ให้บริการคือ ตำรวจด้วยรอยยิ้ม มีความแจ่มใส ใส่ใจในการให้บริการประชาชน ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว สามารถตอบสนองทุกเรื่อง ด้วยความรวดเร็ว ทันใจ ลดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย

ถึงตรงนี้แม้ว่าทั้งสองหน่วยงานจะมั่นใจว่าความร่วมมือบนความเชื่อมั่นของ “สถานีตำรวจล้ำสมัย” บูรณาการ “กระบวนการยุติธรรม” จะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ได้สำเร็จอย่างแน่นอน

แต่ทว่า…เป้าหมายปลายทางความสำเร็จของการเป็น “สถานีตำรวจล้ำสมัย” เพื่อประชาชน จริงหรือไม่? ท้ายที่สุดแล้วคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ “ประชาชน”.

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

Related Articles

Latest Articles