ตราโล่เขนตำรวจ

         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมตำรวจเดิม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปพระแสงดาบเขนและโล่ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ตราโล่เขน”  โล่ เป็นรูปวงกลมเส้นคู่สองชั้น วงนอกเป็นลายพรรณพฤกษา วงในเป็นลายใบเทศ ผูกลายเป็นรูปหน้าสิงห์หรือหน้ายักษ์ เรียกว่าจตุรมุข ตามธรรมเนียมโบราณที่แกะสลักรูปหน้ายักษ์จตุรมุขไว้บนหน้าบานประตู ทั้งสี่ทิศของปราสาทหิน ด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ทวารเข้า-ออก ปกป้องคุ้มครองและขจัดสิ่งชั่วร้าย ดาบ ที่คาดติดในอยู่ในปลอก ด้ามอยู่ด้านบน มีลาดลายนก ทั้งนี้สัญลักษณ์ไม่จำกัดสีและขนาด

          ตำรวจไทยเกิดเป็นรูปแบบองค์กรครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่4 ทรงโปรดให้จัดตั้งองค์กรตำรวจและปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยให้เป็นระบบ โปรดให้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูป “หนุมารสี่กร” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ได้พระราชทานเป็นพระราชหัตถเลขา อนุญาตให้กรมตำรวจภูธรใช้พระรูปพระแสงดาบเขนและโล่ประจำที่มุมธงและใช้เป็น ตราประจำกระดาษสำหรับราชการในกรมตำรวจภูธร เมื่อ 20 มิ.ย. 2445

          ตราโล่เขนนี้ ออกแบบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2440 โดยหม่อมเจ้าประวิชชุมสาย(ผู้ผูกลายพระราชลัญจกรแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.2416) ถึงสมัยรัชกาลที่6 ดาบเขนและโล่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญตราที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.2453 ให้เป็นตราประจำกรมพลตระเวน ต่อมา พ.ศ.2458 เปลี่ยนเป็นกรมตำรวจนครบาล

         โล่และดาบมีนัยแห่งความหมายอันลึกซึ้งที่แสดงถึงความไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่โปรดให้ตำรวจราชองครักษ์เท่านั้นที่มีอาวุธ(ดาบ) ติดตัวประจำกายเข้าถึงพระราชฐานชั้นในได้ โล่และดาบจึงแสดงถึงเกียรติภูมิแห่งหน้าที่ เป็นศักดิ์ศรีแห่งอำนาจที่ได้รับพระราชทานเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ และเป็นตำรวจของประชาชน มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ระงับทุกข์และบำรุงความผาสุกให้ประชาชนตามคำพูด “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

Related Articles

Latest Articles